โรคหนองใน (Gonorrhea)

โรคหนองใน คือ โรคที่ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธุ์ พบได้ทั้งในผู้ชายละผู้หญิง และในเด็กก็ยังสามารถเป็นได้ แล้ว อาการหนองใน สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงคืออะไร มียารักษาหนองในแบบไหนบ้าง  หากทิ้งไว้ไม่รักษาจะมีอาการแทรกซ้อนอย่างไร มีวิธีรักษาหนองในอย่างไร ศึกษาจากบทความนี้ได้ครับ

ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของโรคหนองใน

โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhea ซึ่งอยู่ตามสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด เป็นต้น เชื้อจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธุ์ หรือการสัมผัสผ่านสารคัดหลั่ง เช่น กรณี ติดหนองในที่ตา ในทารกที่คลอดผ่านทางช่องคลอดของมารดาที่เป็นโรคหนองใน เชื้อจะมีระยะฟักตัว 2-10 วัน (โดยทั่วไปภายใน 5 วัน) โดยผู้ป่วย 1 ใน 3 มักมีการเป็นหนองในเทียมร่วมด้วย ดังนั้นจึงต้องรักษาร่วมกันเสมอ

โรคหนองในเทียม (Nongonococcal urethritis) เกิดจากการติดเชื้อโรคได้หลายชนิด ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หรือเชื้อรา โดยเชื้อแบคทีเรียที่มักพบได้แก่ Chlamydia trachomatis,Ureaplasma urealytidum การติดต่อสามารถติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ หรือการสัมผัสผ่านสารคัดหลั่ง เช่นเดียวกับโรคหนองในแท้ ซึ่งเชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์

อาการโรคหนองใน

อาการโรคหนองในแท้ ในช่วงแรกผู้ชาย อาจจะพบอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองใสๆจากท่อปัสสาวะ แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ถ้าในเพศหญิงจะตกขาวเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น ไม่คัน เชื้ออาจจะเข้าไปในระบบร่างกายทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามในอวัยวะต่างๆได้

  • หากมีเพศสัมพันธุ์ทางปาก หรือ ทวารหนัก จะทำให้มีหนองบริเวณดังกล่าวได้
  • หากหนองโดนตา อาจทำให้เยื่อบุตาอักเสบเป็นหนองได้
  • ผู้ป่วยบางรายที่ติดเชื้ออาจจะไม่แสดงอาการ ผู้หญิง 50% ไม่แสดงอาการ ส่วนผู้ชาย 10% ไม่แสดงอาการ

อาการโรคหนองในเทียม ผู้ชายจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองเป็นมูกใส ไม่มีสีเหลืองขุ่นเหมือนหนองในแท้ และอาจจะพบหนองเป็นเส้นใสๆ ในปัสสาวะ ส่วนผู้ในผู้หญิงจะมีอาการ ตกขาวมีสีขุ่น ร่วมกับอาการปวดท้องน้อย แต่ผู้หญิงมักไม่แสดงอาการเมื่อเป็นหนองในเทียม

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหนองใน

  1. ถ้าไม่ได้ทำการรักษาโรคหนองในอาจทำให้เสี่ยงต่อการมีบุตรยากทั้งในผู้ชายและผู้หญิง
  2. การติดเชื้อในกระแสเลือด
  3. เชื้อโรคหนองในอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อที่ข้อ เกิดโรคข้ออักเสบเรื้อรังได้
  4. ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบในผู้หญิง ทำให้เกิดพังผืดที่ท่อนำไข่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
  5. ในหญิงตั้งครรภ์ ถ้าได้รับเชื้อหนองใน อาจจะทำให้เกิดภาวะแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ หรือเด็กที่เกิดมาจะได้รับเชื้อหนองในทางดวงตา

ยารักษาหนองใน

การรักษาที่แนะนำโดย CDC Sexually transmitted infections treatment guidelines 2021 มีคำแนะนำดังนี้

ยาที่ใช้ในการรักษา

  1. Ceftriaxone 500 mg IM(ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ) สำหรับผู้ที่หนัก น้อยกว่า 150 กิโลกรัม ส่วนผู้ที่หนัก มากกว่า 150 กิโลกรัม ให้ 1 g
  2. หากสงสัยหนองในเทียมด้วย(chlamydia infection) ให้ Doxycycline 100 mg รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร เป็นเวลา 7 วันร่วมด้วย
  3. รักษาคู่นอนด้วยแม้ไม่มีอาการ

คำแนะนำผู้ป่วยสำหรับการรักษาโรคหนองใน

  • ไม่ควรพยายามรีดหนองออกมา เนื่องจากจะทำให้การอักเสบลุกลามได้
  • งดการมีเพศสัมพันธุ์รวมถึงการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง เพื่อลดการอักเสบและการแพร่กระจายของเชื้อ
  • ทำการรักษาโดยมีแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญดูแล ไม่ควรปล่อยไว้
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการรักษา

วิธีป้องกันการติดโรคหนองใน

  • มีเพศสัมพันธุ์เพียงกับคู่นอนคนเดียว หลีกเลี่ยงการมีหลายคู่นอน เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อทางเพศสัมพันธุ์
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธุ์ เพื่อป้องกันการรับเชื้อจากคู่นอน
  • เมื่อคู่นอน มีประวัติได้รับเชื้อหนองใน ควรรับการตรวจคัดกรองทั้ง 2 คน เพื่อทำการรักษา แม้ว่าจะไม่มีอาการใดๆก็ตาม